เมื่อร่างกายได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ควรต่อเนื่อง ร่างกายจะเข้าสู่ “โหมดประหยัดพลังงาน” โดยการลดอัตราเผาผลาญ พยายามเก็บไขมันไว้มากขึ้น และดึงกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งแม้น้ำหนักจะลดลงเร็วในช่วงแรก แต่สิ่งที่หายไปกลับไม่ใช่ไขมันอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงมวลกล้ามเนื้อที่จำเป็นด้วย เมื่อกล้ามเนื้อน้อยลง ระบบเผาผลาญก็ยิ่งช้าลง และเมื่อกลับมากินตามปกติ น้ำหนักจึงพุ่งกลับเร็วขึ้นและมากกว่าเดิมในบางราย นอกจากนี้ การอดอาหารยังส่งผลต่อ สุขภาพจิตและพฤติกรรมการกิน หลายคนที่เริ่มต้นด้วยการงดแป้ง งดมื้อเย็น หรือลดปริมาณอาหารอย่างรุนแรง อาจเผชิญกับอารมณ์หงุดหงิด สมาธิสั้น นอนไม่หลับ หรือมีความอยากอาหารมากขึ้นในบางช่วงเวลา จนกลายเป็นภาวะ “โยโย่อีตติ้ง” คืออดหนักในช่วงหนึ่งแล้วกลับมากินเกินในอีกช่วงหนึ่งอย่างไม่สามารถควบคุมได้
ไดเอทอย่างไรให้ได้ผลและไม่ทรมาน?
แล้วถ้าไม่อดอาหาร ควรไดเอทอย่างไรให้ได้ผลและไม่ทรมาน? คำตอบคือการ เปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการเลือกอาหารที่มีคุณภาพ เช่น โปรตีนดี ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ให้พลังงานและอิ่มนาน ลดการกินหวานและแป้งขัดขาว ควบคู่ไปกับการแบ่งมื้ออาหารให้เหมาะสม ไม่ปล่อยให้หิวจัดจนขาดสติในการเลือกกิน และไม่จำเป็นต้องงดมื้อใดมื้อหนึ่งโดยสิ้นเชิง การดื่มน้ำให้เพียงพอ นอนหลับอย่างมีคุณภาพ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในท้ายที่สุด การดูแลรูปร่างไม่ควรเป็นเรื่องของการ “ทรมานตัวเอง” แต่ควรเป็นเรื่องของ ความเข้าใจร่างกายและการปรับสมดุล