นอนดึกและพักผ่อนไม่เพียงพอ
พฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุดคือ การนอนดึกและพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะในช่วงเวลาหลับลึก ร่างกายจะซ่อมแซมระบบต่าง ๆ และปรับสมดุลฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว ความอิ่ม และพลังงานในร่างกาย เมื่อเรานอนดึก ฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) จะสูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันฮอร์โมนเลปตินที่ควบคุมความอิ่มจะลดลง ทำให้หิวบ่อย กินไม่อิ่ม และระบบเผาผลาญก็ช้าลงตามไปด้วย
การงดอาหาร
อีกพฤติกรรมที่ส่งผลรุนแรงคือ การงดอาหารเช้า หรือกินไม่เป็นเวลา เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล ส่งผลต่อการทำงานของอินซูลิน เมื่อระดับน้ำตาลเหวี่ยง ร่างกายจะสั่งให้เก็บพลังงานไว้ในรูปของไขมัน และลดการเผาผลาญลงเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปล่อยให้ตัวเองหิวจัด ร่างกายจะชะลอระบบเผาผลาญโดยอัตโนมัติ และเมื่อได้กินอีกครั้งก็มักจะเผลอกินมากเกินพอดี
ไม่ขยับร่างกาย
การนั่งนาน ขยับตัวน้อย หรือไม่ออกกำลังกายเลย ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ระบบเผาผลาญเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง เพราะกล้ามเนื้อซึ่งเป็นแหล่งเผาผลาญหลักของร่างกายจะเริ่มลดลงเมื่อไม่ถูกใช้งาน ยิ่งมวลกล้ามเนื้อน้อย ระบบเผาผลาญก็ยิ่งแย่ลง แม้จะกินน้อยก็ตาม
ความเครียดเรื้อรัง
เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่หลายคนมองข้าม เมื่อเราตกอยู่ในภาวะเครียดเป็นเวลานาน ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะส่งสัญญาณให้ร่างกายสะสมพลังงานไว้มากขึ้น ทำให้ไขมันสะสมเพิ่ม โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง อีกทั้งยังทำให้เกิดพฤติกรรมกินตามอารมณ์ เช่น การกินหวานหรือของทอดเพื่อปลอบใจตนเอง ซึ่งเป็นวงจรที่ยิ่งทำให้ระบบเผาผลาญเสียสมดุล
หากคุณเริ่มรู้สึกว่าแม้จะควบคุมอาหารหรือพยายามออกกำลังกาย แต่น้ำหนักยังไม่ลง รู้สึกเหนื่อยง่าย สมองล้า หรือไม่มีแรงในแต่ละวัน อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาทบทวน “พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน” ว่ากำลังเผลอทำร้ายระบบเผาผลาญอยู่หรือไม่ เพราะการเผาผลาญที่ดีไม่ได้เกิดจากการอดอาหารหรือออกกำลังกายหนักเท่านั้น แต่เกิดจากการนอนให้พอ กินให้เป็น และใช้ชีวิตอย่างสมดุลในทุกด้าน