รู้หรือไม่? ลำไส้เป็นศูนย์กลางของระบบภูมิคุ้มกัน
ลำไส้มีบทบาทต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร?
1. เป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรค
ผนังลำไส้เป็นเหมือน “เกราะป้องกัน” ที่ช่วยคัดกรองสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย และป้องกันเชื้อโรคหรือสารพิษไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด หากลำไส้ไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะ ลำไส้รั่ว ทำให้สารพิษหรือเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย กระตุ้นการอักเสบเรื้อรัง และทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
2. ไมโครไบโอมช่วยควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน
ไมโครไบโอม เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ประกอบด้วยแบคทีเรียที่ดี (Probiotics) และแบคทีเรียที่ก่อโรค ทำหน้าที่ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบในร่างกาย และ ป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านอาหาร หากจุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล อาจเกิดภาวะ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Diseases) เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหาร
3. ผลิตสารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
ลำไส้ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งดูดซึมสารอาหารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการ ผลิตสารชีวเคมีที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และควบคุมการอักเสบของร่างกาย โดยสารสำคัญที่ลำไส้ผลิตขึ้น ได้แก่
- กรดไขมันสายสั้น (Short-Chain Fatty Acids: SCFAs) ช่วยป้องกัน การอักเสบเรื้อรัง และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคอย่างสมดุล กระตุ้น เซลล์ T Reg (Regulatory T Cells) ซึ่งช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้และโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (Macrophages & Dendritic Cells) ที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรค สามารถพบกรดไขมันสายสั้นจากอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล กล้วย กระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
- วิตามินที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ ลำไส้สามารถผลิตวิตามิน B และ K ได้หากมีสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดี วิตามิน B6 และ B12 มีบทบาทในการสร้าง เซลล์เม็ดเลือดขาว และช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้เต็มที่ อาหารที่ช่วยส่งเสริมการผลิตวิตามินจากลำไส้ อาหารหมักดอง เช่น กิมจิ มิโสะ นัตโตะ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม
พฤติกรรมที่ทำให้ลำไส้เสียสมดุล และส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน
- รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงและอาหารแปรรูป – ทำให้แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ลดลง
- การใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยเกินไป – ฆ่าแบคทีเรียทั้งที่ดีและไม่ดีในลำไส้
- ความเครียดสะสม – ฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) สามารถส่งผลเสียต่อลำไส้
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ – ส่งผลต่อการทำงานของไมโครไบโอม
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป – อาจทำให้ลำไส้ระคายเคืองและอักเสบ
วิธีดูแลลำไส้ให้แข็งแรง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
- รับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกส์และโปรไบโอติกส์
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ลำไส้อักเสบ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันทรานส์ และอาหารแปรรูป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
- ลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ